เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งชีวิต...อย่าปล่อยให้มิจฉาชีพมาหลอกไป

27 กันยายน 2566
อ่าน 4 นาที



​ในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะประโยชน์ที่ได้รับ
จากข้อมูลข่าวสารผ่านการนำเสนอที่มีความน่าสนใจและรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น ภัยคุมคามจากมิจฉาชีพก็ฉวย
ประโยชน์จากสื่อออนไลน์แฝงตัวเข้ามาหลอกให้ลงทุนด้วยกลโกงสารพัดรูปแบบเช่นกัน และฉกเอาทรัพย์สิน
เงินทองที่เราสั่งสมมาตลอดชีวิตหายวับไปทันที

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจัดเป็นสวัสดิการด้านการออมเงินที่นอกจากลูกจ้างจะสะสมเงินเข้ากองทุนทุกเดือน
แล้ว นายจ้างยังช่วยสมทบเงินอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนทุกเดือนด้วยเช่นกัน และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง
จำนวนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะค่อย ๆ เติบโตขึ้น ด้วยกำลังของเงินทั้งในส่วนที่สะสมและสมทบ
รวมถึงประโยชน์ที่มีโอกาสงอกเงยจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน
ในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุและได้รับเงินก้อนใหญ่จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เก็บออมและลงทุนมาตลอด
ชีวิตการทำงานที่อาจเป็นหลักแสนหรือหลักล้าน เงินจำนวนนั้นย่อมถือเป็นของขวัญเพื่อนำไปใช้ในชีวิตหลัง
เกษียณ โดยผู้เกษียณอาจแบ่งเงินเป็นสัดส่วนไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แบ่งให้ลูกหลาน หรือนำไปลงทุน
เพื่อหวังต่อยอดผลกำไร
(คลิกดูตัวอย่างประสบการณ์จริงได้ที่ https://www.facebook.com/sec.or.th/videos/129268865938398 )

เมื่อพูดถึงการลงทุนในปัจจุบันมีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ หากพิจารณาตามทฤษฎีในการลงทุน ผู้ที่อยู่
ในช่วงอายุหลังเกษียณควรลงทุนในระดับความเสี่ยงต่ำเพื่อเก็บรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย อย่างไรก็ดี
อาจมีผู้เกษียณบางรายเห็นว่าการลงทุนในลักษณะดังกล่าวให้ผลตอบแทนน้อย (Low Risk Low Return)
จึงมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้น เมื่อได้รับการชักชวนจากคนใกล้ชิด หรือผู้ที่อ้างว่า
เป็นผู้ประกอบวิชาชีพในแวดวงตลาดทุน หรือเห็นโฆษณาชักชวนลงทุนตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ดูน่าเชื่อถือ
ทำให้ผู้เกษียณอาจไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นมิจฉาชีพปลอมปนเข้ามาหลอกลวงหรือไม่ อีกทั้งเร่งรัดให้รีบลงทุน
พร้อมด้วยข้อเสนอผลตอบแทนการลงทุนในระดับสูงมาล่อใจ และอาจนำเงินเกษียณก้อนใหญ่ไปลงทุน
โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ความเสียหายรุนแรงที่สุดที่อาจ
เกิดขึ้นได้คือการสูญเงินเกษียณที่อาจเป็นเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตไปจากการถูกหลอกลงทุน

ก.ล.ต. จึงขอย้ำเตือนให้ผู้เกษียณทุกท่าน ระมัดระวัง ศึกษา และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบก่อน
ตัดสินใจลงทุนเพื่อป้องกันตนจากภัยหลอกลงทุน โดยมากมิจฉาชีพมักใช้วิธีหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Facebook, Website, Line, X (เดิมชื่อ Twitter) และ TikTok โดยมีรูปแบบกลโกง
ต่าง ๆ เช่น แอบอ้างใช้ชื่อ โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของหน่วยงานรัฐ บริษัท และบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้าง
ความน่าเชื่อถือ และหลอกให้พูดคุย หรือโน้มน้าวให้เข้ากลุ่ม Line Open Chat แล้วล่อใจโดยอ้างว่าจะให้
ผลตอบแทนสูง การันตีผลตอบแทน และเป็นผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งหลอกว่าคนที่ไม่มีความรู้ก็ลงทุนได้เพราะ
ความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนแอบอ้างชื่อ ภาพ และเลขทะเบียนของผู้แนะนำการลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล
ของ ก.ล.ต. เป็นต้น

หากพบเจอหรือถูกชักชวนลงทุนในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น อย่าตกหลุมพราง หรือหากสงสัยว่าผู้ชักชวน
ให้ลงทุนเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ สามารถเช็กง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน SEC Check
First โ​ดยสามารถค้นหารายชื่อบริษัท บุคคล และผลิตภัณฑ์การลงทุน ผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
ว่าได้รับอนุญาตหรือไม่ และขอให้เช็กเพิ่มด้วยว่าประเภทใบอนุญาตตรงกับที่กล่าวอ้างหรือไม่

สำหรับกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อ โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของหน่วยงานรัฐ บริษัท บุคคลที่มีชื่อเสียง
และผู้แนะนำการลงทุน ขอให้ตรวจสอบโดยตรงกับหน่วยงานรัฐ บริษัท หรือบุคคลที่ถูกอ้างถึงตามช่องทาง
ติดต่อที่เป็นทางการเท่านั้น นอกจากนี้ ขอให้พึงระวังก่อนโอนเงินทุกครั้ง ไม่โอนเข้าชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา
ให้โอนเข้าบัญชีปลายทางที่เป็นชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น และหากพบการกระทำ
ที่น่าสงสัย ไม่ชอบมาพากล สามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207
กด 2 หรืออีเมล complaint@sec.or.th

เงินก้อนที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นผลลัพธ์จากการมีวินัยด้านการออมและการลงทุนของท่าน
ที่สั่งสมมาตลอดหลายปีเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยหากท่านที่ประสงค์จะนำเงินไปต่อยอดให้เติบโตเพิ่มขึ้น
ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใด ก.ล.ต. ขอให้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบเพื่อให้ปลอดจาก
ภัยกลโกงหลอกลงทุน